ความสำคัญของ “การศึกษา” เป็นการพัฒนาและการสร้างอนาคตของชาติที่จะสร้างให้ผู้คนในประเทศให้มีความรู้และพัฒนาตนเองตามความรู้ที่ได้รับมาตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการดำรงชีพ รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตยังสร้างความได้เปรียบในการประกอบอาชีพที่ต้องแข่งขันกันในทุกๆด้าน
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จึงมีเป้าหมายในการรับนักเรียนที่ศึกษาจบจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อเข้าเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จนกระทั่งจบระดับปริญาตรี ตามความสามารถของน้องๆ โดยได้ดำเนินภายใต้โครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ ตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 18 ปี
สำหรับในพื้นที่ภาคอีสาน มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 52 จังหวัดเลย เมื่อปี 2559 มีนักเรียนทุนในโครงการฯ จำนวน 13 ราย จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ซึ่งมีบางรายที่ไม่สามารถเรียนจนจบได้ เนื่องจากครอบครัวส่วนมากประกอบอาชีพเกษตร และผู้ปกครองต้องการให้ช่วยงานเกษตร และอีกปัญหาที่สำคัญคือภาระค่าใช้จ่ายของต่างๆ ของครอบครัว
ซึ่งในปีนี้ โครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ ยังได้ขยายความร่วมมือ กับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 53 จังหวัดสกลนคร มีนักเรียนทุนฯ ในโครงการฯ เพิ่มขึ้น จำนวน 6 ราย ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาที่เป็นการสร้างโอกาส และสร้างคนที่จะมาพัฒนาประเทศ หรือการกลับไปประกอบอาชีพบนถิ่นฐานของตนเอง มูลนิธิโครงการ สามารถส่งเสริมพร้อมทั้งประคับประครองให้น้องๆ นักเรียนทุนฯ สามารถเดินทางไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้
แต่สิ่งที่ท้าท้ายคือน้องๆ คือปัญหาพื้นฐานครอบครัวที่ทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การที่จะนำพาให้น้องไปสู่ความสำเร็จนั้น ต้องเกิดจาก 4 ปัจจัย ได้แก่
1. การเริ่มต้นที่ดี คือ ผู้ปกครองต้องให้การสนับสนุน ใสใจ และให้พลังใจกับน้อง ๆ
2. โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นจุดสำคัญในระหว่างทางที่ต้องบ่มเพาะความรู้ในด้านวิชาการ ตามหลักสูตร
3. หน่วยงานสนับสนุนทุนฯ ระหว่างทาง ต้องส่งเสริมทั้งทุนเล่าเรียนและทุนดำรงชีพระหว่างเรียน ที่สำคัญต้องหมั่นติดตามเยี่ยมเยือน พบปะคุณครู พ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเชื่อใจให้ผู้ปกครองว่าลูกหลานมีอนาคตทางการศึกษาที่ต่อเนื่อง
4. น้อง ๆ นักเรียนเอง ต้องมีเป้าหมายในการเล็งเห็นอนาคต ที่จะส่งผลต่อตนเองและครอบครัวในภายภาคหน้า เพื่อเป็นแรงผลักดันให้มีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน
# ภาพจากแฟ้มภาพ-ภาพปัจจุบัน
โดยพี่ป้อม พฤหัส