ในยุคที่สถานการณ์ Covid-19 ระบาดอยู่นี้ หลายประเทศที่ประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ซึ่งกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเรียน ซึ่งต้องปิดโรงเรียน โดยรัฐบาลมักจะออกมาตรการด้านการเรียนรู้มารองรับ ด้วยการเรียนทางไกลรูปแบบต่างๆ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขความพร้อมด้านอุปกรณ์ ความพร้อมของผู้ปกครอง และความพร้อมตามช่วงวัยของเด็ก เพราะการเรียนรู้ยังต้องดำเนินอยู่แม้นักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนตามปกติ
สำหรับการดำเนินงานของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้เข้าอบรม
ดังนั้น หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง จึงได้ปรับวิธีการเรียนการสอนแบบปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจัดให้มีการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ผ่านกลุ่มห้องเรียนออนไลน์ มีการสาธิตการปฏิบัติผ่านกลุ่มตัวอย่างจริง พร้อมกับเสริมด้านจิตวิทยาในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการรับมือกับภาวะอารมณ์ที่หลากหลายของผู้สูงอายุในการทำงานจริง นอกจากนี้ในภาคปฏิบัติยังคงแบ่งผลัดกันเป็นกลุ่มเล็ก เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างเคร่งครัด
ซึ่งการเรียนแบบใหม่นี้ นอกจากหน่วยงาน/สถาบัน และผู้สอน จะต้องวางแผนรูปแบบการถ่ายทอดชุดองค์ความรู้ให้มีประสิทธิภาพและความคุ้มค่ากับผู้เรียนแล้ว ผู้เรียนก็ต้องมีความพยายามในการเรียนรู้มากขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อให้บรรลุผลในสิ่งที่ต้องการ เพราะเมื่อเรียนจบหลักสูตร ผู้เรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตร สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โดยรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประกอบอาชีพ “นักบริบาลดูแลผู้สูงอายุ” ได้ถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 60 คน โดยคัดเลือกเยาวชนที่จบการศึกษาระดับชั้น ม.3 ขึ้นไป ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและมีความสนใจ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสทางเลือกด้านอาชีพบริบาล มีรายได้มั่นคง สามารถดูแลตัวเอง และครอบครัวได้
โดย คุณรังสินี ทองระย้า