สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยในภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล จึงทรงเริ่มงานพัฒนาในปี 2523 โดยทดลองทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน นำร่องในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 3 โรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร สร้างเสริมภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร โดยมุ่งเน้นให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ร่วมกันทำการเกษตรในโรงเรียน แล้วนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวัน รวมทั้งนักเรียนได้รับความรู้และทักษะด้านการเกษตรแผนใหม่ ก่อนจะขยายพื้นที่การดำเนินงานไปในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาดำเนินงานในรูปแบบ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เพื่อมีส่วนเสริมสร้างโภชนาการที่ดีแก่เยาวชนในชนบทของประเทศไทยผ่านกิจกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ โดยนำผลผลิตไข่ไก่มาประกอบอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน และอีกส่วนหนึ่งจำหน่ายให้กับชุมชน ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องการสร้างผลผลิตไข่ไก่ให้เด็ก ๆ ได้รับประทานตลอดช่วงเวลาเปิดเทอมเท่านั้น แต่มูลนิธิฯ ยังมุ่งให้เกิดการพัฒนาระบบบริหารจัดการโครงการฯ เพื่อให้แต่ละโรงเรียนสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นเสมือน “ห้องเรียนสังคม” หรือ Social Lab ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ทั้งด้านการผลิต การจัดการการเลี้ยงไก่ไข่ในเชิงอาชีพและถูกหลักวิชาการ เรียนรู้เรื่องของการจัดการผลผลิตเพื่อสร้างรายได้ด้วยการจำหน่ายสู่ชุมชน รวมทั้งการนำไข่ไก่ไปแปรรูปที่หลากหลาย เป็นการสร้างทักษะอาชีพ และจุดประกายหรือแรงบันดาลใจให้เด็กๆ นำไปเป็นทางเลือกอาชีพต่อไปได้ โดยมีพี่ ๆ สัตวบาลจาก บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำร่วมกับคณะครูในโรงเรียน
มูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2532 โดยเริ่มต้นจากการสนับสนุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้การดูแลของสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. และสังกัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ
นับถึงปลายปี 2564 มีโรงเรียนร่วมโครงการรวม 880 โรงเรียน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 231 โรงเรียน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 342 โรงเรียน ภาคกลาง 138 โรงเรียน ภาคตะวันออก 56 โรงเรียน และภาคใต้ 113 โรงเรียน โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมเจตนารมณ์สนับสนุนโครงการ เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ JCC-B (Japanese Chamber of Commerce -Bangkok) และ บมจ.สยามแม็คโคร หรือ Makro มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือโรงเรียนในทุกภูมิภาค เนื่องจากเด็กนักเรียนและเยาวชนมีปัญหาทุพโภชนาการเกินเกณฑ์ โดยมูลนิธิฯ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการและงบประมาณ ประกอบด้วย สนับสนุนทุนก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ อุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ และปัจจัยการผลิต และร่วมกับ CPF คัดเลือกโรงเรียน ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิควิชาการการเลี้ยงไก่ไข่ยืนกรง และติดตามประสิทธิภาพของแต่ละโรงเรียน
ตลอดระยะเวลา 32 ปีที่ผ่านมา เด็กนักเรียนในโรงเรียนร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนมากกว่า 180,000 คน ได้รับโปรตีนจากไข่ไก่อย่างน้อย 120 ฟอง/คน/ปีการศึกษา ช่วยให้อัตราทุพโภชนาของนักเรียนในโรงเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง มีกองทุนสะสมเพื่อใช้หมุนเวียนในโครงการเฉลี่ยโรงเรียนละ 30,000 บาท เป็นโครงการที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นักเรียนได้เรียนรู้การบริหารจัดการโครงการซึ่งสามารถประยุกต์กิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่สู่การเรียนการสอน ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้อาชีพเกษตรธุรกิจ รวมทั้งผลผลิตจากโครงการเอื้อประโยชน์ให้สมาชิกของ 1,972 ชุมชนรอบโรงเรียนสามารถเข้าถึงอาหารโปรตีนคุณภาพจากไข่ไก่สด สะอาดและปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม มากไปกว่านั้นคือ การเลี้ยงไก่ไข่ยังเป็นอาชีพทางเลือกสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองด้วย
จากการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมโดยหน่วยงานยูนุสประเทศไทย (YUNUS THAILAND) พบว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สร้างประโยชน์ให้นักเรียนจากการนำไข่ไก่ไปประกอบอาหาร เกิดความร่วมมือระหว่าง ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า Co-production ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีโอกาสขยายผลไปสู่การสร้างเป็น Social Enterprise และโครงการยังสอดรับกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ในข้อ 1 – No Poverty ขจัดความยากจนทุกรูปแบบทุกสถานที่ ข้อ 2 – Zero Hunger ขจัดความหิวโหย ข้อ 3 – Good Health and Well-being สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี และข้อ 4 – Quality Education ด้านการศึกษาอีกด้วย