กว่าจะมาเป็นโครงการ
เมื่อกล่าวถึงผู้สูงวัย คนส่วนใหญ่จะนึกถึงคนแก่ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย และแน่นอนว่าจะตามมาด้วยความคิดเห็นว่าเป็นคนแก่ที่อาจมีหลายสภาวะตั้งแต่ติดบ้าน ติดสังคมติดเตียง
จากการได้รับมอบหมายให้มาดูแลโครงการซีพีคืนสุขผู้สูงวัยในชนบทที่ห่างไกล ทำให้ต้องหาข้อมูลจากหลายแหล่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะเอามาเป็นข้อมูลเพื่อเขียนโครงการ และการดำเนินงาน กิจกรรม แผนงานต่างๆ
เมื่อได้ข้อมูลมาก็เริ่มต้นเขียนโครงการ เขียนอย่างไรให้ได้รับการอนุมัติ เขียนอย่างไรที่จะทำให้เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ใครจะต้องเกี่ยวข้อง เกี่ยวข้องอย่างไร หน่วยงานในองค์กรและนอกองค์กรที่ไหนที่จะร่วมมือกัน เรียกว่ากว่าจะเขียนโครงการสักหนึ่งโครงการมันก็ไม่ง่ายเลย แก้แล้ว แก้อีก แก้จนคิดว่ามันโอเค ผ่านหลายสายตา หลายความคิดเห็น ก็มาถึงขั้นตอนที่จะทำงาน ใครหรือหน่วยงานไหนที่เขาทำ เขาทำอย่างไรมีระบบการทำงานอย่างไร ก็ต้องไปเอาตัวอย่างของเขามาดู ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าดูอย่างเดียวต้องวิเคราะห์ว่าทำไมเขาทำแบบนั้นเพราะอะไร แล้วเราจะทำอะไรแตกต่างจากเขาตรงไหน ประโยชน์คืออะไร เมื่อได้ศึกษาวิเคราะห์แล้ว จึงเรียบเรียงให้เป็นการเขียนโครงการและนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ
ดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย เพราะกระบวนการทางกฏหมาย ทางบัญชีที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะว่าด้วยเรื่องการสนับสนุนเงิน จึงต้องมีความละเอียด มีการมอบหมายบุคคลที่รับผิดชอบในพื้นที่ให้ดำเนินการ ซึ่งก็ต้องอาศัยทางบัญชีที่จะให้คำแนะนำ
โครงการฯ นี้เริ่มดำเนินการในปี 2562 ใช้เวลา 1 เดือนในการเดินเรื่องเอกสารทางบัญชี การมอบหมายผู้รับผิดชอบในพื้นที่ และการเปิดบัญชีในพื้นที่ๆโครงการดำเนินการ
โครงการฯ ดังกล่าว ได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมูลนิธิฯ มีต้นทุนในการทำงาน นั่นหมายถึงหน่วยงานร่วมเจตนารมณ์ทั้งภาครัฐและกลุ่มธุรกิจในพื้นที่ การลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อทำความเข้าในวัตถุประสงค์ของโครงการฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญ อบต.หลายแห่งในพื้นที่จังหวัดนครพนม และ เชียงราย ตลอดจนสถาบันการศึกษา มูลนิธิฯ จึงได้มีโอกาสเข้าไปพบปะพูดคุย และชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ
เมื่อทำความเข้าใจกับโครงการแล้ว การดำเนินการขั้นตอนต่อไปคือการสำรวจและเยี่ยมบ้านของผู้สูงวัยที่ส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งในเอกสารการสมัครต้องได้รับการรับรองข้อมูลอันเป็นจริงจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น นายกอบต.กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน และผู้ประสานงาน
บ้านแล้วบ้านเล่าที่ได้ไปเยี่ยมมาต้องบอกกับตัวเองว่าบางครั้งชีวิตมันยิ่งกว่าละครน้ำเน่า นอกจากจะไม่มีลูกหรือญาติพี่น้องดูแลแล้ว ยังพิการติดเตียง ได้อาศัยเพื่อนบ้านช่วยส่งข้วง ส่งน้ำดูแล และมีเจ้าหน้าที่อสม.ในพื้นที่ ที่จะมาเยี่ยมเยีนนตามตารางเวลาการทำงานที่ได้รับมอบหมาย บางคนนอกจากความจนที่เป็นทุนอยู่แล้ว ยังต้องแบกภาระเลี้ยงดูหลานที่ลูกเอามาฝากแล้วนานๆทีก็จะส่งเงินมาให้บ้าง บางคนก็ไม่เคยได้รับทราบข่าวอีกเลย ผู้สูงวัยบางคนไม่มีบุตร ไปรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรมสุดท้ายลูกบุญธรรมเอาบ้านไปขายและย้ายไปอยู่ที่อื่น ทิ้งให้แม่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในบ้านที่เจ้าของคนใหม่รับซื้อไว้ (บ้านเดิมของผู้สูงวัย ) ที่เขาเมตตาให้อาศัยอยู่เพราะเห็นว่าไม่มีที่ไป และให้อยู่จนกว่าจะตาย
ทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นภาระกิจสำรวจเดินทางกลับเข้าที่พัก มักจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าอะไรหนอทำให้ชีวิตของผู้สูงวัยเหล่านี้ต้องเจอกับสภาพแบบนี้ ความจน ปัญหาครอบครัว หรือเพราะเป็นกรรมแต่ปางก่อน
ผู้สูงวัยที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
เมื่อได้ข้อมูลของผู้สูงวัยที่สมัครเข้ามาโดยผ่านขั้นตอนการคัดเลือกของคณะกรรมการหมู่บ้าน อบต. และรพ.สต. มาจนครบ ก็ถึงขั้นตอนการนำเสนอคณะทำงานเพื่อร่วมกันพิจารณา ซึ่งบางความเห็นให้ผ่าน บางความเห็นไม่ผ่าน บางความเห็นผ่านหมด คุณได้ไปต่อ แต่ท้ายสุดการพิจารณาจะขึ้นกับคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งถือเป็นมติเอกฉันท์จาก 34 ราย คณะกรรมการอำนวยการสามารถตัดเลือกได้ 20 ราย และรอบสุดท้ายเหลือผู้สูงวัยที่มีคุณสมบัติครบถ้วน จำนวน 14 ราย เป็นผู้สูงวัยในพื้นที่จังหวัดนครพนม9 ราย และ เชียงราย 5 ราย
.
ผู้สูงอายุในจังหวัดนครพนม
.
ผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงราย
การดำเนินการขั้นตอนต่อไปคือการแจ้งไปยังหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดของผู้สูงอายุและแจ้งไปยังฝ่ายบัญชีเพื่อดำเนินการทางการเงิน เพื่อให้ผู้สูงวัยได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 2,000บาท /เดือน…
สัปดาห์นี้ขอจบเพียงเท่านี้ก่อน พบกันใหม่ฉบับหน้ากับการมอบเงินที่ต้องแลกด้วยน้ำตา
Cr: คนเดินทาง