งานวิจัยชี้! วัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของคนภาคอีสาน สร้างต้นแบบ“ครอบครัว” ที่ดีได้ ซึ่งสอดคล้องแนวคิดการบ่มเพาะเด็กกำพร้าในโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม

การเจริญเติบโตของ “เด็ก” สิ่งที่สำคัญที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด คงหนีไม่พ้น “ครอบครัว” ที่ทำหน้าที่เป็นสถาบันพื้นฐานทางการศึกษาของสังคม เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ ฝึกฝนและอบรมให้สมาชิกได้เรียนรู้ระเบียบสังคมหรือการขัดเกลาทางสังคม เปรียบเสมือนโรงเรียนที่ทำหน้าที่บ่มเพาะเด็กตั้งแต่เกิด จนกระทั่งโตบรรลุนิติภาวะ มีการถ่ายโยงค่านิยม ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ความศรัทธาและวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตจากสมาชิกรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง และท้ายที่สุดหล่อหล่อม “คนดี” ที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต

จากงานวิจัยของนโยบายและแผนในการพัฒนาสถาบันครอบครัว (2542: อ้างถึงในสุรีรัตน์ จุลานุพันธ์,2549: 7) ได้กล่าวถึงความสำคัญของครอบครัว คือ ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานแรกที่สุดของมนุษย์ และเป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งทำหน้าที่ในการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์เกิดใหม่ การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวและการให้การศึกษาในครอบครัวมีอิทธิพลต่อระดับคุณภาพของคนและบุคลิกภาพ

นอกจากนี้ค่านิยม เจตนคติ และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน มีวิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัวเป็นอิทธิพลต่อกันและกัน นอกจากนี้ยังรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและจริยธรรมอีกด้วย โดยจากการศึกษาของ ดุษฎี อายุวัฒน์ (2549) พบว่า ครอบครัวอีสานร้อยละ 76.1 ต้องการให้ออกไปทำงานต่างถิ่น โดยมีทัศนคติเชิงบวกมากที่สุดคือ ต้องการส่งเงินกลับมาสนับสนุนครอบครัว แต่เมื่อย้ายถิ่นฐาน ก็ยังนำความเชื่อ ความคิด และวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ติดตัวมา นำมาปรับให้เข้ากับพื้นที่นั้นๆ

สอดคล้องกับแนวคิดของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ และการดำเนินงานของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม ที่มองต้นแบบ “ครอบครัว” ที่เข้มแข็งจะต้องมีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง จึงมีความสนใจครอบครัวในภาคอีสานและทำการคัดเลือกครอบครัวที่มีคุณสมบัติและมีความพร้อมในการอุปการะเด็กกำพร้า เพื่อเป็นตัวแทนทำหน้าที่หล่อหลอมเด็กกำพร้าด้วยความรัก ความผูกพัน ความเอื้ออาทร และการเกื้อกูล มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจให้มุ่งมั่นสร้างความดี และสามารถดำเนินชีวิตสืบต่อไปได้อย่างมีคุณค่า

สำหรับปัญหาของ “เด็กกำพร้า” แม้จะได้รับการเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตตามวัยในสถานสงเคราะห์ แต่ยังขาดองค์ประกอบสำคัญคือ “ครอบครัว” ทำหน้าที่ดูแลให้มีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสังคม ไปพร้อม ๆ กัน การให้เด็กกำพร้าได้เติบโตในครอบครัวทดแทน ซึ่งมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนอันดีงาม “ครอบครัวอุปการะ” จึงทำหน้าที่เป็นครอบครัวทดแทนให้กับเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบของสังคมที่มีต่อเด็ก

######