ตลอดระยะเวลา 33 ปีของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนงาน 4 ด้านหลัก คือ พัฒนาเด็กและเยาวชน ชุมชนและขจัดความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมาย “สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี ชุมชนสิ่งแวดล้อมดี
“โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ฯ” เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน สนองแนวพระราชดําริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาสในถิ่นทุรกันดารให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสนับสนุนการศึกษาแก่นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับหรือเท่าที่มีการเปิดการเรียนการสอน ในโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน (โรงเรียนตชด.) ให้เยาวชนมีโอกาสศึกษาต่อ พัฒนาตนเองให้เป็นคนดี พึ่งตนเองและกลับไปช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในปี 2546 ซึ่งเป็นปีเริ่่มต้นของโครงการ มูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการฯ ร่วมกับ สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนศิษย์เก่าโรงเรียนตชด. นำความรู้ไปประกอบสัมมาชีพ เป็นคนดี พลเมืองดีชายแดน ซึ่งปัจจุบันการดำเนินโครงการฯเข้าสู่ปีที่19 แล้ว
คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า เป้าหมายของมูลนิธิฯ คือ สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี และชุมชนสิ่งแวดล้อมดี ซึ่งที่ผ่านมา มูลนิธิฯร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษา ดำเนินโครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนศิษย์เก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาทัดเทียมเยาวชนในเมือง เพื่อกลับไปพัฒนาชุมชนในฐานะเป็นพลเมืองดีชายแดน นักเรียนทุนสามารถกลับไปสร้างงานสร้างอาชีพในครัวเรือน ที่ต่อยอดเป็นระบบเศรษฐกิจในชุมชน สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง เกิดการรวมกลุ่มเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนโรบัสต้าป่าช้างขาว บ้านป่าหมาก ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
นับจากปี 2546 การจัดรับนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าโครงการ จะมี 2 ลักษณะ คือ เยาวชนศิษย์เก่าโรงเรียนตชด. (ภาคกลาง) และเป็นนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ กับเยาวชนศิษย์เก่าโรงเรียนตชด. (ภาคกลาง) ที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นเยาวชนที่มีความประพฤติดี ผลการเรียนดี มีความเป็นผู้นำ ที่ต้องการศึกษาต่อ แต่ขาดทุนทรัพย์ ให้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 หรือศึกษาต่อสายอาชีพในสถาบันการอาชีวศึกษา จนถึงปัจจุบัน มีเด็กเข้าร่วมโครงการรวม 203 คน สำเร็จการศึกษาแล้ว 97 คน อยู่ระหว่างการศึกษา 81 คน และกลับไปศึกษาหรือประกอบอาชีพภูมิลำเนา 25 คน และพบว่าร้อยละ 24 ของนักเรียนทุนได้กลับไปสร้างงาน สร้างอาชีพในครัวเรือน ขณะที่ร้อยละ 54 สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ขยายผลในการสร้างงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชน
นอกจากนี้ เด็กๆในโครงการที่ต้องเข้าพักค้างประจำ ได้เรียนรู้การใช้ชีวิต ที่ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมูลนิธิฯได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยก่อสร้างอาคารพักค้างให้กับเยาวชนและเจ้าหน้าที่ มีตำรวจตชด. จากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นผู้ฝึกด้านระเบียบวินัยให้กับเยาวชน มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ทำหน้าที่เป็นเสมือนพ่อแม่ ฝีกอบรมสั่งสอน พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของเยาวชน เป็นการช่วยสร้างทักษะชีวิต ควบคู่กับการฝึกทักษะอาชีพด้านธุรกิจเกษตร อาทิ การเลี้ยงแพะ เลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่พื้นเมือง ปลูกไม้ผลผสมผสานและพืชผักสวนครัว ที่ไม่เพียงใช้ประกอบอาหารสำหรับทุกๆ คนเท่านั้น ยังเรียนรู้วิธีการจัดการรายรับ-รายจ่าย การพัฒนาตนเองจากสิ่งใกล้ตัวเป็นกระบวนการเรียนรู้นำไปต่อยอดได้ในอนาคต
ตลอดระยะเวลาที่เยาวชนอยู่ในโครงการฯ มูลนิธิ ฯ จะสนับสนุนทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยเด็กเยาวชนจะได้ศึกษาสายสามัญ ณ โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งโรงเรียนมีโควต้าให้กับมูลนิธิฯ ปีละ 10 คน ส่วนเยาวชนที่เลือกศึกษาสายอาชีพ ก็สามารถเลือกเรียนตามความสนใจและความถนัด ทั้งที่วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดเพชรบุรี หรือโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ และหากเยาวชนมีศักยภาพ ผลการเรียนดี และมีความสามารถต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา มูลนิธิฯ ยังสนับสนุนให้การศึกษาต่อไป
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวฯ ยังได้ต่อยอดความสำเร็จสู่เยาวชนในพื้นที่อื่นๆ ด้วยการสนับสนุนทุนให้กับนักเรียนประจำ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 52 จังหวัดเลย และเยาวชนจากโรงเรียน ตชด.ภาค 1 รวมทั้งได้ขยายพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ร่วมกับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 53 และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 จังหวัดสกลนคร ผนึกพลังสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับน้องๆ นักเรียนจากโรงเรียนตชด. ภายใต้การดูแลของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 ทั้ง 11 แห่ง โดยมีมูลนิธิฯ ส่งเสริมด้านการศึกษาตามกำลังสติปัญญา และความสามารถของน้องๆ
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว มาสามารถช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาสร้างโอกาสที่ทัดเทียมของเด็กในเมืองและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนแล้ว ยังเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 19 ปีของ “โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทและหน่วยงานภาคีเครือข่าย เดินหน้าสร้างเยาวชนในพื้นที่ชายแดนได้เข้าถึงการศึกษาที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเสริมสร้างสติปัญญาพัฒนาศักยภาพของตนเอง เรียนรู้วิธีจัดการชีวิต การจัดการอาชีพเกษตรขั้นพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนทั้งรุ่นที่จบการศึกษาไปแล้วและกำลังศึกษาอยู่ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนที่เข้มแข็ง และ สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป ./