น่าดีใจไม่น้อย ที่วันนี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อมกันอย่างคึกคัก เพราะอย่างน้อยเมื่อมี “ผู้ให้” ย่อมมี “ผู้ได้รับ”
สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เลือกที่จะเป็น “ผู้ให้”อย่างต่อเนื่อง ด้วยหลักปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลัก 3 ประโยชน์ คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ประชาชน และประโยชน์ของบริษัท โดยดำเนินการผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ
มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท องค์กรสาธารณสุกลที่ซี.พี.ก่อตั้งในปี พ.ศ.2530 ขึ้นมาแล้วทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์และเพื่อสังคม นอกจากการแก้ไขปัญหาสังคมแล้วยังคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้สังคมนี้ดีขึ้น โดยมองเป้าหมาย 3 ประการ
1. ส่งเสริมให้คนเป็นคนดี มีวินัย ความรับผิดชอบ
2. ส่งเสริมความร่วมมือร่วมกันทำงานเพื่อสังคมโดยทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี
3. ส่งเสริมให้มีการจัดการอาชีพที่ดี
หากสามารถพัฒนาทั้ง 3 เรื่อง ให้บรรลุเป้าหมาย คนในชุมชนก็จะแข็งแรงขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้และก้าวไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย
กระบวนการนี้จึงช่วยสร้างพลังให้กับสังคม เป็น “ยิ่งกว่ากิจกรรมเพื่อสังคม Beyond CSR” ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท
ด้วยจุดแข็งของซี.พี.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ผนวกกับพลังขับเคลื่อนการพัฒนาชนบท จึงรู้ดีว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้การเกษตรประสบความสำเร็จนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ประการแรกจำเป็นต้องมีทุน ซึ่งไม่ได้ หมายถึง ตัวเงินแต่เป็นทุนทางสังคม อาทิ ความสัมพันธ์ที่ดี การรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรม เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ ตลอดจนกลุ่มสวัสดิการในชุมชน และมีตัวเงิน เป็นองค์ประกอบย่อย ประการที่สองมีความรู้ ประการที่สามมีวิชาการและเทคโนโลยี ประการที่สี่มีการบริหารจัดการ และประการที่ห้าการทำการตลาดที่ดี กิจกรรมต่างๆของมูลนิธิพัฒนาชีวิตจึงพัฒนากระบวนการดำเนินการให้ครบเครื่องขึ้นเรื่อยๆ จากยุคแรกที่คัดเลือกเยาวชนจากทั่วประเทศเพื่อมาให้ความรู้แล้วให้กลับไปพัฒนาหมู่บ้าน มาระยะหลังได้พัฒนาเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพลงไปในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้ศักยภาพของพื้นที่เป็นตัวตั้งแล้วใช้เครือข่ายขององค์กรธุรกิจ ภาคเอกชนเข้าเสริม
“เรามองว่าการจะนำเอาความเชี่ยวชาญหรือความสำเร็จของคนที่ทำสำเร็จผนวกเข้ากับพลังของคนหนุ่มสาว ขยายผลไปในพื้นที่ต่างๆ จะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับสังคมได้มาก”
การพัฒนาสังคมที่ก้าวไปสู่ความยั่งยืน ถือเป็นธงในการทำงานของมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทมาตลอด ให้คนในชุมชนพึ่งตัวเองได้ และสามารถเดินได้ด้วยตัวเขาเอง เพราะเมื่อใดที่เขาเดินได้แล้วก็จะเอื้อมมือไปช่วยเหลือคนอื่น มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทจึงเป็นเสมือน “ผู้สร้าง” หรือผู้จุดประกายและขับเคลื่อนเพื่อสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรม
ยกตัวอย่าง กรณีมีการจัดตั้งสหกรณ์แล้วมีปัญหาในการบริหารจัดการ ทางมูลนิธิฯจะพาไปดูงานสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จ เข้าไปช่วยแนะนำการบริหารจัดการ นำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ ขนาด 4,000-5,000 ตัวเข้าไปดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในทุกมิติ คือ การผลิต การจัดการ ระบบบัญชี การเงิน การตลาด ให้มีระบบข้อมูลและมาตรฐานเป็นตัวกำกับประสิทธิภาพ เมื่อสหกรณ์เข้มแข็งขึ้นมีผลกำไร ก็นำผลกำไรนั้นมา ก็สามารถจัดตั้งเป็นสวัสดิการชุมชนได้
สหกรณ์สันกำแพง เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ช่วงที่มูลนิธิฯเข้าไปใหม่ๆ สหกรณ์แห่งนี้มีหนี้สินสะสมอยู่จำนวนหนึ่ง แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิให้มีการเลี้ยงไก่ไข่ แนะนำการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สหกรณ์มีกำไรสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนำไปชำระหนี้ และ เมื่อมีเงินเข้ามาสมาชิกก็สามารถกู้ยืมไปประกอบอาชีพต่างๆ ได้ เงินที่เหลือก็นำไปจัดตั้งกองทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ให้กับหมู่บ้าน วันนี้สหกรณ์สันกำแพงได้ยกระดับจาก Social enterprise เป็น Social business
กำไรที่ได้ส่วนหนึ่งชุมชนก็นำไปเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ไปต่อยอดโครงการอาหารกลางวันให้กับนักเรียนในโรงเรียน ก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อสังคมในระดับชุมชน ผลานิสงส์ตรงนี้ทำให้วันนี้ 400 โรงเรียนทั่วประเทศมี “กองทุนอาหารหมุนเวียน” เพื่อกลางวันเป็นของตัวเอง
ตลอดระยะเวลา 25 ปีมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทจึงเป็นพลังเล็กๆในการช่วยขับเคลื่อนสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ที่ผ่านมา ฯพณฯ องคมนตรีกำธน สินธวานนท์ ในฐานะประธานมูลนิธิฯ ได้กำหนดแนวนโยบายและเทศทางการดำเนินงานและ นายธนินท์ เจียรวนนท์ในฐานะรองประธานมูลนิธิฯและประธานคณะผู้บริหารซี.พี. ย้ำอยู่เสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินกิจกรรมสังคม คือ ต้องให้คนในชุมชนเกิดความมั่นคงในอาชีพและรายได้ คนในชุมชนสามารถเติบโตเป็นเถ้าแก่น้อยได้ จึงจะเป็นการช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง
ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทจึงทำใน 3 มิติ
มิติที่หนึ่ง คือ เมื่อทำแล้วทำอย่างไรจะทำให้พนักงานขององค์กรมีความสุข กิจกรรมในโครงการมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท จึงไม่ได้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะดำเนินการโดยมูลนิธิฯตามลำพัง เช่น โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันปัจจุบันก็มีหน่วยธุรกิจร่วมกันทำเป็นหลัก เมื่อผู้บริหารและพนักงานได้เข้าร่วมในกิจกรรมทุกคนก็จะมีความสุขเมื่อเห็นรอยยิ้มของเด็กๆ รอยยิ้มของชาวบ้านในกิจกรรมส่งเสริมอาชีพให้กับคนจน ให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง
มิติที่สอง คือ ทำอย่างไร เมื่อทำไปแล้วเขาสามารถเพิ่งตัวเองได้
มิติที่สาม คือ ทำอย่างไรที่จะก่อให้เกิดคุณค่าจริงๆ ขึ้นในสังคม คือ การสร้างให้เขาเป็นคนดี เป็นพลเมืองที่ดี มีอาชีพที่ดีสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในท้องถิ่น
ในมิติคุณค่าของโครงการ เรื่องใหญ่และสำคัญที่สุด คือ ทุกโครงการบุคลากรของมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทและบุคลากรของเครือซีพี รวมถึงกลุ่มเป้าหมาย อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) อาจารย์ในสถาบันการศึกษา เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง เกษตรกร ได้มีโอกาสร่วมกันคิด ร่วมกันทำงานเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในทุกโครงการ ส่วนเรื่องเม็ดเงินถือเป็นเรื่องรองหรือผลพลอยได้
ในการนี้นอกจากจะก่อให้เกิดความสามัคคีในสังคม ยังสร้างกลไกความรับผิดชอบปัญหาของตนเองในชุมชน ไม่ต้องนั่งรอความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้พลังชุมชนเป็นตัวตั้ง โดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ทัศนคติต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาว่า ชุมชนต้องลุกขึ้นมาแก้ไขและพัฒนาด้วยตัวของเขาเอง โดยร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันวางแผนว่าชุมชนจะเดินไปทิศทางไหน โรงเรียนจะเดินไปทางไหน เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งทำให้สังคมแข็งแกร่งและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
โดย สุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์