เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อมีผู้สูงอายุ60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ในปี 2565 โดยประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติเป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด โดยในปี 2563 มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากถึง ร้อยละ 17.57 ของประชากรทั้งหมด
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) แนะ 3 ประเด็นเร่งด่วน เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย ได้แก่
1. ระบบสาธารณสุข มุ่งเน้นการรักษา ป้องกันโรคปัจจุบัน มากกว่าความถดถอยตามสภาพร่างกายของผู้สูงอายุและโรคเรื้อรังต่างๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุ
2. ระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ยังไม่มีการกำหนดสวัสดิการรองรับผู้สูงอายุอย่างดี ทั้งการขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ หรือเรื่องเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุก็ยังไม่ชัดเจน รวมถึงสิทธิบัตรทอง ระบบการรักษาพยาบาลต่างๆ
3. ระบบงบประมาณในการส่งเสริมพัฒนากลุ่มผู้สูงอายุ
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เล็งเห็นว่าแนวทางดังกล่าวเป็นประโยชน์เป็นอย่างมากกับสังคมไทย อีกทั้งสอดคล้องกับแนวคิดและเป้าหมายการดำเนินงานภายใต้โครงการซีพีคืนสุขผู้สูงวัยในชนบทห่างไกล โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้ดีขึ้น ช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ยากของผู้สูงอายุที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยสนับสนุนเงินรายเดือนๆละ 2,000 บาท นอกเหนือจากรายได้ที่ได้จากภาครัฐ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถแบ่งปันความสุข คือได้ซื้ออาหารที่อร่อยที่อยากทาน สามารถแบ่งปันความสุขทางใจ คือได้มีเงินทำบุญ สามารถแบ่งปันความช่วยเหลือไปยังลูกหลานที่เป็นภาระที่ต้องดูแลอีกด้วย
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวฯ ยังส่งเสริมให้เกิดจิตอาสาในการเป็นคนมีน้ำใจ รู้จักแบ่งปัน ให้ความช่วยเหลือ และดูแลผู้สูงอายุหรือคนในชุมชนเอง เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เป็นชุมชนที่มีความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ช่วยเหลือคนชุมชนด้วยกัน โดยมูลนิธิฯ ยังคงติดตามความเป็นอยู่และไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุพร้อมทั้งพูดคุยรับฟังปัญหาและให้กำลังใจตลอดทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.bangkokbiznews.com/social/974811